ที่มา

ธรรมสำหรับนักบริหาร

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ประยุกต์ธรรมเพื่อสังคม : พระไพศาล วิสาโล

สร้างสังคมส่งเสริมธรรม
         ในเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องนำธรรม(และวินัย)ไปจัดสรรสังคมให้เกื้อกูลต่อชีวิตที่ดีงาม เราควรมีแนวทางหรือหลักการอย่างไร? หลักภาวนา ๔ เป็นหนึ่งในหลักธรรรมที่สามารถเป็นแนวทางในการจัดสรรโครงสร้างและระบบต่าง ๆ ในสังคม ได้ กล่าวคือจะต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาชีวิตทั้ง ๔ ด้าน คือ กาย ความประพฤติ จิต และปัญญา กล่าวอีกนัยหนึ่งสังคมที่ดีงามควรมี ๔ มิติคือ

มิติทางกายภาพ ผู้คนปราศจากความยากจน ปลอดพ้นจากปัญหามลภาวะและภัยธรรมชาติ มีสุขภาพพลานามัยที่ดี ไม่ถูกคุกคามด้วยโรคภัยไข้เจ็บ หรือป่วยเพราะขาดแคลนหรือบริโภคอย่างล้นเกิน

มิติทางความประพฤติ ผู้คนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ไม่เบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบ หรือรังเกียจเดียดฉันท์กัน มีการเคารพศักดิ์ศรีและสิทธิของกันและกัน ไม่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาอาชญากรรมหรือภัยสงคราม ครอบครัวและชุมชนมีความมั่นคงและเกื้อกูลกัน

มิติทางจิต ผู้คนมีสุขภาพจิตดี มีความสุขสงบในจิตใจ ไม่เครียด หม่นหมอง รู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว หรือเต็มไปด้วยความโกรธแค้นพยาบาท ไม่หมกมุ่นกับยาเสพติด หรือหาทางออกด้วยการฆ่าตัวตาย

มิติทางปัญญา ผู้คนรู้จักคิด ใช้ความรู้และเหตุผลในการวินิจฉัย ไม่มองและตัดสินด้วยอคติหรืออารมณ์ความรู้สึก สามารถแก้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตนเองได้ด้วยปัญญา ผู้คนเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตและรู้เท่าทันความเป็นไปของโลก

          สังคมที่ดีงามทั้ง ๔ มิติดังกล่าวจะเป็นไปได้ ลำพังการเทศนาสั่งสอนและการทำตัวเองให้ดีย่อมไม่เพียงพอ หากโครงสร้างและระบบต่าง ๆ ในสังคมก่อผลตรงกันข้าม คือทำให้ประชาชนยากจนลง หมกมุ่นในอบายมุขมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการรังเกียจเดียดฉันท์กันด้วยเหตุผลทางศาสนา ภาษา เชื้อชาติ เป็นต้น สิ่งที่จะต้องทำควบคู่กันไปก็คือการเปลี่ยนโครงสร้างและระบบต่าง ๆ ให้เป็นไปในทางส่งเสริมมิติทั้ง ๔ ให้เป็นจริง กล่าวคือ
          ระบบเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้อย่างยุติธรรม ไม่ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งปกป้องผู้ยากไร้จากการเอาเปรียบของผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ผู้คนมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะหรือของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน มีปัจจัยในการผลิตและดำรงชีพขั้นพื้นฐาน เป็นต้น
          ระบบการเมือง ไม่ผูกขาดอำนาจไว้ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่กระจายอำนาจให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจตั้งแต่ระดับชุมชนไปถึงระดับชาติ รวมถึงการดูแลจัดการทรัพยากรท้องถิ่น มีกลไกที่สามารถป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้หลักประกันทางสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีกลไกการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี เป็นต้น
          ระบบการศึกษา ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และฝึกฝนตนในทุกมิติ ไม่หลงติดอยู่กับระบบบริโภคนิยมหรือถูกครอบงำด้วยลัทธินิยมใด ๆ อย่างไร้วิจารณญาณ ผู้คนสามารถพัฒนาและใช้ศักยภาพทั้ง ๔ มิติให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น นอกจากสามารถแก้ปัญหาของตนได้แล้ว ยังสามารถช่วยเหลือส่วนรวมด้วยวิถีทางที่สันติ
          ระบบสื่อสารมวลชน ส่งเสริมให้เกิดการบริโภคที่ถูกต้องและมีทัศนคติที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาทั้ง ๔ มิติ ไม่ถูกครอบงำด้วยอำนาจทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์ใด ๆ เป็นสื่อกลางที่ส่งเสริมให้ผู้คนเกิดความเข้าใจกัน การยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งเคารพในความแตกต่างทางความคิดและอัตลักษณ์
          การส่งเสริมและขับเคลื่อนให้เกิดระบบทั้งสี่ตามแนวทางดังกล่าวมีความสำคัญมากในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่ากระแสโลกาภิวัตน์ที่มีอิทธิพลอยู่ในปัจจุบัน ได้มีส่วนไม่น้อยในการทำให้เกิดวัฒนธรรม ๒ กระแสใหญ่ คือ วัฒนธรรมแห่งความละโมบและ วัฒนธรรมแห่งความโกรธเกลียดการเชื่อมโลกให้เกือบจะเป็นหนึ่งเดียวกันนั้นด้วยโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีนั้น ในด้านหนึ่งทำให้ลัทธิบริโภคนิยมแพร่ขยายไปทุกมุมโลกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้กระทั่งในป่าลึกและภูเขาสูงก็ยังหนีไม่พ้น ระบบโทรคมนาคมที่เชื่อมโยงถึงกันทั้งโลกได้ถูกใช้เพื่อกระตุ้นการบริโภคทั้งวัตถุและภาพลักษณ์อย่างไม่หยุดหย่อน จนผู้คนไม่เคยรู้สึกพอเสียที
          ในอีกด้านหนึ่งกระแสโลกาภิวัตน์ได้ทำให้ผู้คนทั่วทั้งโลกได้เผชิญกับการไหลบ่าของอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากตน ไม่ว่าจะเป็นศาสนา เชื้อชาติ และภาษา ระยะห่างทางภูมิศาตร์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นกำแพงขวางกั้นคนต่างเชื้อชาติ ศาสนา และภาษา ให้อยู่แยกห่างจากกัน เมื่อพังทลายลงหรือไร้ความหมาย ผู้คนสามารถเดินทางข้ามทวีปหรือข้ามพรมแดนง่ายกว่าแต่ก่อน อีกทั้งยังสามารถตอกย้ำอัตลักษณ์ของตนผ่านสื่อไร้พรมแดน ผลที่ตามมาก็คือคนต่างอัตลักษณ์ต้องมาอยู่ประชิดกัน แต่แทนที่จะเข้าใจกันมากขึ้น กลับหวาดระแวงกันและรู้สึกว่าอัตลักษณ์ของตนกำลังถูกคุกคาม จึงพยายามป้องกันอัตลักษณ์ของตนมากขึ้น ซึ่งเท่ากับผลักอีกฝ่ายให้กลายเป็นคนละพวกคนละฝ่ายมากขึ้น ผลก็คือเป็นศัตรูกัน เกิดความโกรธเกลียดต่อกัน ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงการแผ่ขยายและรุกรานของทุนที่ทรงพลังในการเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ในท้องถิ่นอื่นได้อย่างสะดวกขึ้นเพราะตลาดถูกเปิดอย่างเสรี ทำให้เกิดความขัดแย้งและต่อสู้ขัดขืนจนระเบิดเป็นความรุนแรงในหลายที่

ที่มาของบทความ :  http://www.visalo.org/article/budPrayukDham.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น