ที่มา

ธรรมสำหรับนักบริหาร

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หลักธรรม 10 ประการ ของผู้นำ

          ทาน ให้ปันช่วยผู้ใต้ปกครอง คือบำเพ็ญตนเป็นผู้ให้ โดยมุ่งปกครองหรือทำงานเพื่อให้เขาได้ มิใช่เพื่อจะเอาจากเขา เอาใจใส่อำนวยบริการ จัดสรรความสงเคราะห์ อนุเคราะห์ ให้ผู้ใต้ปกครองได้รับประโยชน์สุข ความสะดวกปลอดภัย ตลอดจนให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เดือดร้อนประสบทุกข์และให้ความสนับสนุนแก่คนทำความดี
          ศีล รักษาความสุจริต คือ ประพฤติดีงาม สำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริต รักษากิตติคุณ ประพฤติให้ควรเป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของผู้ใต้ปกครอง มิให้มีข้อที่ผู้ใดจะดูแคลนได้
          ปริจจาคะ บำเพ็ญกิจด้วยเสียสละ คือ สามารถเสียสละความสุขสำราญ เป็นต้น ตลอดชีวิตของตนได้ เพื่อประโยชน์สุขของผู้ใต้ปกครองและความสงบสุขเรียบร้อยของหน่วยงาน
          อาชชวะ ปฏิบัติภาระโดยซื่อตรง คือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงผู้ใต้ปกครอง
          มัททวะ ทรงความอ่อนโยนเข้าถึงคน คือ มีอัธยาศัยไม่เย่อหยิ่ง หยาบคายกระด้างถือองค์ มีความสง่างามเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวลละมุนละไม ควรได้ความรักภักดี แต่มิขาดยำเกรง
          ตปะ พ้นมัวเมาด้วยเผากิเลส คือ แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำจิต ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่หลงใหลหมกมุ่นในความสำราญและการปรนเปรอ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอหรืออยู่อย่างง่าย ๆ สามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียรทำกิจในหน้าที่ให้บริบูรณ์
          อักโกธะ ถือเหตุผลไม่โกรธา คือ ไม่เกรี้ยวกราด ไม่วินิจฉัยความและกระทำการด้วยอำนาจความโกรธ มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความเคืองขุ่น วินิจฉัยความและการกระทำด้วยจิตอันสุขุมราบเรียบตามธรรม
          อวิหงสา มีอหิงสานำร่มเย็น คือ ไม่หลงระเริงอำนาจ ไม่บีบคั้นกดขี่ มีความกรุณา ไม่หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ผู้ใต้ปกครองผู้ใดด้วยอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง
          ขันติ ชำนะเข็ญด้วยขันติ คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ อดทนต่อความเหนื่อยยาก ถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไร ก็ไม่ท้อถอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยถ้อยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ยอมทิ้งกิจกรณีย์ที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม
          อวิโรธนะ มิปฏิบัติคลาดจากธรรม คือ ประพฤติมิให้ผิดจากประศาสนธรรม อันถือประโยชน์สุขความดีงามของหน่วยงานและของผู้ใต้ปกครองเป็นที่ตั้ง อันใดผู้ใต้ปกครองปรารถนาโดยชอบธรรม ก็ไม่ขัดขืน การใดจะเป็นไปโดยชอบธรรมเพื่อประโยชน์สุขของผู้ใต้ปกครองก็ไม่ขัดขวาง วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหว เพราะถ้อยคำดีร้าย ลาภสักการะหรืออิฎฐารมณ์
          อนิฐฐารมณ์ใด ๆ สถิตมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรมก็ดี นิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป
         

          อ้างอิงจากหนังสือ "ธรรมนูญชีวิต พุทธจริยธรรมเพื่อชีวิตที่ดีงาม" โดย พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตโต)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น